เหตุการณ์ 6 ตุลา ของ เหตุการณ์ 6 ตุลา

การสังหารหมู่

ภาพร้อยตำรวจโท วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล ยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะในปากยังคาบบุหรี่
วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
อดีตช่างภาพเอพี นีล อูเลวิช กล่าวสะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลา, เอพี

มีคนมาล้อมมหาวิทยาลัยทั้งตำรวจ กำลังกึ่งทหารและประชาชนรวมประมาณ 8,000 คน และมีนักศึกษาอยู่ประมาณ 4,000 คน[22]:104 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ถูกล้อมไว้หมดทุกด้านตั้งแต่เวลา 3.00 น.[2]:6 ตำรวจตั้งกองบัญชาการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อธิบดีกรมตำรวจประกาศเจตจำนงกวาดล้างมหาวิทยาลัยและจับผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลารุ่งสาง[2]:6

พยานเล่าว่าเมื่อเวลา 5.30 น. มีการยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ลงกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บ 13 คน[22]:102 เชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชำนาญอาวุธ และคาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณเข้าตี[6]:167–8 ไม่นานจากนั้น ตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ใช้อาวุธสงครามประกอบด้วย ปืนเล็กยาว (เช่น เอ็ม16), ปืนกลหนัก เอชเค 33, ปืมเอ็ม79, และปืนไร้แรงสะท้อน[6]:168 ปืนอานุภาพสูงติดกล้องเล็งและปืนต่อสู้รถถัง[22]:103 ระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และด้านหน้าของมหาวิทยาลัยในลักษณะไม่เลือกหน้า[6]:168 พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค ตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 เป็นผู้นำตำรวจปราบจลาจล 200 นายเข้าไปในมหาวิทยาลัย[23] เวลาประมาณ 5.40–6.00 น. สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. พยายามติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และโฆษกให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในตึกบัญชีและตึกคณะวารสารฯ[22]:102 6.00 น. การขนส่งผู้บาดเจ็บทางเรือถูกตำรวจสกัดไว้ และตำรวจและกระทิงแดงยิงปืนมาจากตลิ่งอีกฝั่ง[2]:6 เวลา 7.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนเล็ดรอดออกไปได้ แต่หลังจากนั้นประตูถูกปิดตาย แม้มีคำขอเปิดทางให้หญิงและเด็กแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยินยอม[22]:103 มีกลุ่มคนไม่แต่งเครื่องแบบขับรถโดยสารประจำทางชนประตูใหญ่และตำรวจเร่งรุดเข้าไปในมหาวิทยาลัย[6]:168 สุธรรมและผู้แทน ศนท. รวมทั้งนักแสดงในละครล้อในวันที่ 4 ตุลาคมออกมาในรถพยาบาลและขึ้นรถตำรวจ ตำรวจปฏิเสธคำขอพบนายกรัฐมนตรีและทั้งหมดถูกจับกุม[2]:7 โฆษกเวทีที่ประกาศยอมจำนนถูกยิงด้วยปืนเอ็ม16[2]:7 พลตำรวจโทชุมพลอนุญาตให้ยิงเสรีในมหาวิทยาลัย[5]:255 ในเวลาประมาณ 7.30 น.[2]:7 จนถึงเวลา 8.00 น. ตำรวจรุกเข้ามาในสนามฟุตบอล และยิงใส่ตึก อมธ. ตึกคณะวารสารฯ และตึกบัญชี แล้วนำกำลังเข้ายึด[22]:104 เวลา 7.45 น. มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไป จนถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[22]:104 ฝูงชนที่อยู่ตามดาดฟ้าเชียร์ตำรวจโดยบอกว่านักศึกษาไม่มีอาวุธหนัก[2]:7

มีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามต่อนักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งบริเวณท่าพระจันทร์และไปหลบตามบ้านเรือนราษฎรได้ก็ถูกตามจับตัวได้กว่า 1,000 คน[22]:103 นักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยาจมน้ำเสียชีวิตหลายคน[2]:7 วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ถูกยิงขณะพยายามว่ายน้ำเข้าสู่ที่ปลอดภัย[11] นักศึกษาที่หนีขึ้นฝั่งได้และหลบอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ถูกบังคับให้ยอมมอบตัว มิฉะนั้นตำรวจจะยิงปืนใส่ร้านอย่างไม่เลือก[2]:8

นีล อูเลวิชเล่าว่าเสียงกระสุนกว่าร้อยละ 90 มีทิศทางไปยังนักศึกษา[24] พฤติกรรมโหดร้ายทารุณของตำรวจในวันนั้น เช่น การทำร้ายฆ่าฟันนักศึกษาที่กำลังหนีหรือว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ยอมจำนนแล้ว หรือถูกมัดมือแล้ว[6]:169 ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลเสนีย์มีอำนาจมากน้อยเพียงใดในวันนั้น[15]:250 เสนีย์แถลงข่าวเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ว่าตำรวจจะเลือกใช้วิธีใดในการปราบปรามนั้นขึ้นอยู่กับตำรวจ[2]:8 ในเดือนตุลาคม 2537 พันตำรวจตรี มนัส สัตยารักษ์ เขียนว่า ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุทั้งการใช้อาวุธและการควบคุมนักศึกษา "ตำรวจที่อยู่รอบนอก [มหาวิทยาลัย] ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าสร้างความพอใจให้แก่ตัวเอง" และตำรวจบางนายไม่เห็นด้วยกับวิธีการปราบปรามในวันนั้น[6]:39–40

กลุ่มกึ่งทหาร ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดงและนวพล จำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยพร้อมกับตำรวจเพื่อเข้าทำร้ายนักศึกษา ในลักษณะทำงานร่วมกับตำรวจและตำรวจมิได้ห้ามปราม[6]:177 หลายคนมีบทบาทโดยตรงในการทำร้ายฆ่าฟัน เช่น แขวนคอ เผาทั้งเป็น ทุบตีจนตาย และยังรวมถึงการทำลายศพ เช่น ตอกไม้ ใช้ไม้ทำอนาจารศพหญิง หรือปัสสาวะรด[6]:177 หญิงคนหนึ่งถูกเปลื้องผ้าและยิงปืนใส่หลายครั้ง[2]:8 นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไปถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[22]:104 ผู้ประท้วงที่หนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยจำนวน 20 คนถูกลากไปแขวนคอทั้งที่ยังมีชีวิต และมีการนำศพมาเผากลางถนนราชดำเนิน[22]:104 กลุ่มนี้พยายามลงประชาทัณฑ์นักศึกษาที่ตำรวจจับไว้แล้วที่สนามฟุตบอลแต่ตำรวจห้ามไว้และช่วยหญิงไว้ได้คนหนึ่ง[2]:8 มีการแขวนคอศพผู้ที่เสียชีวิตแล้วไว้กับต้นไม้ริมสนามหลวงแล้วเตะต่อย ทั้งถุยน้ำลายรดและตะโกนด่าสาปแช่ง[19] ศพของวัชรี เพชรสุ่นถูกเปลื้องผ้า นำไม้มาวางไว้ข้างศพให้เข้าใจว่าถูกไม้นั้นแทงอวัยวะเพศจนเสียชีวิต โดยมีคนอยู่รอบศพด้วยความพอใจ[25] ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่าชายปรากฏในภาพใช้เก้าอี้ฟาดศพ (ของอูเลวิช), ภาพการแขวนคอวิชิตชัยและภาพเผาศพ 4 ศพเป็นคนคนเดียวกัน[26] อาจเป็นสายลับที่ถูกส่งมาปลุกปั่นให้คนอื่นเลียนแบบตามหรือไม่[15]:281 ด้านพระกิตติวุฒิโฑไล่นักศึกษาที่เข้าไปหลบในวัดมหาธาตุออกนอกเขตวัดไปให้ตำรวจจับ[6]:177

เวลาประมาณ 11.00 น.[22]:104 นักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทั้งชายหญิงราว 1,000 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อนอนลงกับพื้น ส่วนผู้หญิงให้ถอดเหลือแต่ยกทรง บังคับให้คลานไปตามพื้นสนามหญ้า ทั้งถูกเตะต่อยและรุมทำร้าย[19] เช่นเดียวกับมีการนำศพมาวาง[22]:104 กลุ่มฝ่ายขวาปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของนักศึกษา[6]:170 ตำรวจถอดพระเครื่องของนักศึกษา เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ไม่คู่ควร[27] แพทย์สามคน "กำลังรอคำสั่ง" แม้ผู้ประท้วงมีเลือดออกมากถึงสองชั่วโมง[27] จากนั้นตำรวจยิงปืนกลข้ามหัวนักศึกษาเข้าไปในตึกคณะบัญชี[6]:170 เย็นนั้น กลุ่มนวพลบางคนอวดเพื่อนว่า ตน "ล้วงผู้หญิงตามสบาย"[6]:171 ผู้ได้รับบาดเจ็บในวันนั้นต้องรอการักษาพยาบาลเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่ถูกจับต้องรอหลายวัน[6]:171

สุธรรมเล่าว่าตนถูกตำรวจรั้งตัวไว้ขณะเดินทางเพื่อไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี ตำรวจไปส่งที่จวนนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้เข้าพบ จนสุดท้ายตำรวจนำตัวสุธรรมเข้าที่คุมขังทันทีซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สุดท้ายการเจรจาระหว่าง ศนท. กับนายกรัฐมนตรีจึงไม่เกิดขึ้น[15]:250 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ผ่านไปแล้ว ช่วงบ่ายมีลูกเสือชาวบ้านและตำรวจจะเข้าไปทำร้ายป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพันตำรวจโท สล้าง บุนนาคที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองโดยไม่มีคำสั่งตบหูโทรศัพท์ของป๋วย[6]:176 จากเหตุการณ์ ตำรวจพบอาวุธของผู้ชุมนุมเพียงปืนเล็กยาว 2 กระบอกเท่านั้น ไม่มีอาวุธหนัก[2]:8

นักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิต 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น[6]:63 ถูกนำตัวไปคุมขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ที่จังหวัดนครปฐมและชลบุรี[3] ผู้ถูกจับกุมเกือบทุกคนถูกตำรวจรุมซ้อมเมื่อมาถึงสถานที่คุมขัง[6]:171 นอกจากนี้ ยังมีพยานว่าตำรวจเรียกผู้ถูกจับกุมว่า "เชลย" อันสื่อว่า ตำรวจกำลังทำสงครามกับนักศึกษา[6]:171 ส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวในสัปดาห์ถัดมา

ตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่งว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน[5]:236 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ให้ตัวเลขประมาณผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการกว่า 100 คน โดยอิงแหล่งข้อมูลนิรนามในสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย (Chinese Benevolent Association) ซึ่งกำจัดศพ[2][lower-alpha 4] ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัย ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพ มีจำนวน 45 คน ไม่มีการกล่าวถึงชาวเวียดนามจำนวน 10 คน และทราบว่ามีผู้เสียชีวิตถูกแขวนคอ 4 คน แต่อาจมากกว่านั้น ทราบชื่อได้แก่ วิชิตชัย อมรกุล และปรีชา แซ่เฮีย[28] มีรายงานว่าช่างภาพยูไนเต็ดเพรสอินเตอร์เนชันแนลเสียชีวิต[2]:7 มีนักศึกษาแพทย์และพยาบาลที่เป็นสมาชิกหน่วยอาสาสมัคร "พยาบาลเพื่อมวลชน" ถูกฆ่าตาย 5 คน[6]:170 การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎการศึกอนุสัญญาเจนีวา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจริงสูงกว่านี้ ข้อมูลของมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่าผู้ประท้วงและประชาชนเสียชีวิตกว่า 500 คน และมีมูลค่าความเสียหายทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท[3] พยานนายตำรวจนายหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน[29] พยานนักศึกษาและอดีตกระทิงแดงเห็นศพที่ถูกแขวนคอ "เป็นสิบ ๆ คน"[29] วิโรจน์ มุทิตานนท์ อดีตช่างภาพ ไทยรัฐ มองว่า "คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางสู้ ... เป็นการปิดประตูตีแมว"[6]:170 นิตยสารไทม์ อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"[19]

ผู้รับผิดชอบและผู้บงการ

คำถามที่ว่า ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการ เวลาที่ตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการไม่ใช่ว่าประชาชนไม่รู้ รู้แต่ไม่ตอบ เพราะคดี 6 ตุลาเป็นคดีลึกลับเหมือนประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์นั้นแหละ ไม่ว่าจะตอบได้หรือไม่ได้ ผลมันเหมือนกันหมด เหมือนกับคดีสวรรคตนั่นแหละ

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ[30]

หน่วยตำรวจที่ปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคมมีสามหน่วย ได้แก่ ตำรวจตระเวนชายแดน พลร่มจากค่ายนเรศวรฯ หัวหิน ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และพลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธ์, ตำรวจกองปราบ ภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจตรี วิเชียร แสงแก้ว, และกองปฏิบัติการพิเศษตำรวจนครบาล ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรีเสริม จารุรัตน์[6]:169 เวลา 2.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พยานตำรวจว่า ตำรวจตระเวนชายแดนที่หัวหินได้รับคำสั่งที่ไม่มีคำอธิบายให้เคลื่อนเข้ากรุงเทพมหานคร แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้สั่ง[15]:249–50 แต่ควรทราบว่าตำรวจตระเวนชายแดนมีความใกล้ชิดกับราชสำนัก[15]:250 พลตำรวจเอก ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้สั่งบุกมหาวิทยาลัย[2]:9 นายกรัฐมนตรีระบุว่ามาตรการกวาดล้างมีความจำเป็นเพราะมีการโจมตีสวนตำรวจขณะเข้าจับกุม[2]:9 ต่อมาตำรวจแสดงหลักฐานคำสั่งจับกุมของนายกรัฐมนตรีลงเวลา 7.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาหลังผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามอบตัวแล้วตั้งแต่ 7.00 น.[2]:9

คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สรุปว่า ตำรวจก่ออาชญากรรมทางการเมือง ปราบปรามนึกศึกษาโดยใช้อาวุธสงคราม และปล่อยให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าบริเวณท้องสนามหลวง[6]:15 คณะกรรมการฯ พิจารณาเหตุผลที่ฝ่ายรัฐอ้างในการปราบปราม พบว่าทั้งหมดนั้นขาดน้ำหนักและเหตุผลโดยสิ้นเชิง[6]:16 โดยสรุปคือ

เหตุผลตามอ้างของรัฐในการปราบปรามข้อค้นพบของคณะกรรมการฯ
นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสมาชิกกลุ่มนวพล ตำรวจ และสื่อมวลชนที่ชมการแสดงในวันที่ 4 ตุลาคม ไม่มีผู้ใดมองว่าเป็นการเล่นละครดูหมิ่น นายตำรวจพยานโจทก์หลายนายว่า ตนทราบข่าวนักศึกษาหมิ่นฟ้าชายจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม[6]:86
นักศึกษาชุมนุมและสะสมอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก่อกบฏโฆษกรัฐบาลยอมรับว่าหาอุโมงลับและบังเกอร์ไม่พบ และเมื่อนักข่าวถามว่า "นักศึกษามีอาวุธมากน้อยแค่ไหน ขอดูได้ไหม และถ้านักศึกษามีอาวุธทำไมนักศึกษาตายมากกว่าตำรวจ" เขาตอบว่า "ไม่ทราบ"[6]:89–90

ในเรื่องการพกอาวุธของนักศึกษานั้น มีความจำเป็นเพราะการชุมนุมมักถูกกลุ่มกระทิงแดงก่อกวนลอบยิงและขว้างระเบิดใส่เป็นประจำ อาวุธที่นักศึกษามีในมหาวิทยาลัยวันที่ 6 ตุลาคมมีปืนสั้นไม่เกิน 30 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก และระเบิดมือประมาณ 10 ลูกเท่านั้น[6]:90

ตำรวจควบคุมสถานการณ์ระหว่างสองฝ่ายไว้ไม่ได้พลตำรวจโทชุมพลอ้างว่า ตำรวจต้องใช้อาวุธบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อปกป้องประชาชนที่บุกเข้าไป "มือเปล่า" ขณะที่นักศึกษายิงปืนออกมา เขาว่าพลเรือนที่บุกเข้าไปมีเป็น "พัน ๆ" แต่พยานฝ่ายโจทก์ว่ามีเพียง 70–80 คนเท่านั้น ฝ่ายพันตำรวจโทสล้างชี้แจงว่า ตนควบคุมลูกน้องไม่ได้[6]:92 ทว่า คำบอกเล่าของพยานว่า ตำรวจยิงปืนกลกราดเข้าไปในตึกบัญชี และมีการนำตำรวจมาประจำทางเข้าออกเพื่อป้องกันนักศึกษาหนี[6]:93 ด้านประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า "การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะในวันดังกล่าวประชาชนมีความเคียดแค้น และต้องการเข้าจับตัวนักศึกษาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าไปปฏิบัติงานก่อน ประชาชนที่เคียดแค้นก็อาจจะเข้าไปประชาทัณฑ์นักศึกษา และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอาจถูกทำลาย" ซึ่งเป็นความเท็จ[6]:93–4
นักศึกษาฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีวัตถุประสงค์ทำลายชาติฝ่ายขวามองว่าการปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์จะใช้ความรุนแรงเท่าไรก็ได้ และมีความชอบธรรมทั้งสิ้น และมองว่าสังคมจะมีเสถียรภาพได้ต้องมีเผด็จการ ทว่า แม้แต่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังมองว่า เสถียรภาพของสังคมไทยมาจากสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ นักศึกษาที่ไปเข้ากับ พคท. ถกเถียงกับผู้นำพรรคก่อนออกจากป่า เพราะไม่พอใจที่พรรคเป็นเผด็จการ ซึ่งช่วยลดบทบาทและอิทธิพลของพรรคในที่สุด[6]:94–5
"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน"
(คณะรัฐประหาร)
กลุ่มซอยราชครู–"ทรราช"

พบว่ามีนายทหารอย่างน้อยสองกลุ่มที่เตรียมรัฐประหารโดยฉวยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นข้ออ้าง กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มสายกลางซึ่งก่อการเพื่อชิงตัดหน้ากลุ่มขวาจัดของพลตรีประมาณ[11] ชัยอนันต์ สมุทวณิชกับเดวิด มอร์เรล อธิบายว่า พรรคชาติไทย ฝ่ายขวาของพรรคประชาธิปัตย์ และนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาส-ถนอมวางแผนนำตัว "ทรราช" กลับประเทศเพื่อก่อเรื่อง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเห็นว่าตัวการปราบปรามนักศึกษาน่าจะเป็นกลุ่มพลเอกฉลาดและพลโทวิทูรย์ และเตรียมก่อการรัฐประหารในเวลาดึก[6]:75 คำถามที่ไม่มีคำตอบยังมีอยู่ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ด้วยหรือไม่ และผู้สมคบคิดอื่น ๆ (ของกลุ่มหลัง) เช่น ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านได้รับประโยชน์หรือไม่ แต่เท่าที่เห็นคือ สมาชิกหลายคนยังเป็นผู้มีอิทธิพลในการเมืองไทยในคริสต์ทศวรรษ 1990[15]:251

นักวิชาการลงความเห็นว่าสหรัฐไม่มีความเป็นต้องสั่งการปราบปรามนักศึกษา และชนชั้นปกครองไทยมีเหตุผลสำคัญลงมือเอง ศรพรหม วาดสุรางค์สรุปว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีองค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์[6]:40 สำหรับบทบาทโดยอ้อมจะเป็นไปในทางให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและช่วยจัดตั้งองค์การฝ่ายขวามากกว่า[6]:41 นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นสหรัฐเน้นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากขึ้น[6]:40

พคท. ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นมากหลังจากเหตุการณ์ จนมีการกล่าวหาว่าพรรคอาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เพื่อบีบให้ฝ่ายซ้ายหันการต่อสู้ในเมืองเข้าป่าแทน แต่หลักฐานพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้คือไม่ทราบว่าการแสดงล้อการเมืองจะนำมาสู่การกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[15]:251–2 อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ฉบับ กอ.รมน. เชื่อว่ามีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ คำให้การของพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยามองว่าคอมมิวนิสต์สายจีนกับโซเวียตแตกกัน ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต มีความต้องการปองร้ายพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ฝ่ายจีนที่เสียการควบคุมนักศึกษามาป้อนข่าวแก่ทางราชการหวังให้ขบวนการนักศึกษาปะทะกับฝ่ายขวาแล้วฝ่ายจีนรอตวงผลประโยชน์[16]:451

บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ยังคงเคลือบคลุม พคท. กล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จากอาชญากรรมดังกล่าว[15]:259 สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการและนักเคลื่อนไหว ถูกจำคุกฐานพิมพ์เผยแพร่บทความตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันในเหตุการณ์[31]:278–9 อย่างไรก็ดี นักวิชาการต่างประเทศอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์ เช่น การสนับสนุนลูกเสือชาวบ้านและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[6]:31

การรายงานของสื่อ

สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งเดียวที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในเวลาเช้า สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการ ไปถ่ายภาพเพื่อ "เอาความจริงมาเปิดเผยให้คนรับรู้ นี่เป็นหน้าที่ของผม" ต่อมาเขาถูกปลดจากตำแหน่ง[6]:178 ในช่วงบ่าย สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะถ่ายทอดสดการสัมภาษณ์ตำรวจ 5 นาย พันตำรวจโทสล้างให้สัมภาษณ์ว่า "รัฐบาลควบคุมบงการไม่ให้ตำรวจลงมือจับกุม", พวกตนตกลงนำชาวบ้านที่กระเหี้ยนกระหือรือเข้าไป เขายังเล่าว่านักศึกษาทำร้ายตำรวจที่ถือธงนำเข้าไปขอเจรจาอย่างไม่มีเหตุผล ตลอดการให้สัมภาษณ์มีการสอดแทรกมุกตลก และเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน"[16]:421–2 ภาพถ่ายของนีล อูเลวิชจากสำนักข่าวเอพี (ที่อยู่บนสุดของบทความ) เป็นภาพที่ขึ้นชื่อที่สุดจากเหตุการณ์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2520 สาขาข่าวสด (spot news)

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

รัฐบาลตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ช่วงเช้าวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีนัดประชุมด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการชุมนุม แต่ชาติชายคัดค้านเพราะต้องการให้ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมต่อ[15]:250 พลตำรวจโทชุมพลรายงานเท็จว่าตำรวจซึ่งเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกนักศึกษาทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตเป็นอันมาก แต่รายงานของพลตำรวจเอกศรีสุขซึ่งน่าจะไม่ได้ร่วมแผนรัฐประหารด้วย แจ้งว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บเพียงไม่กี่นาย สุดท้ายรัฐบาลออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของฝ่ายนักศึกษา โดยไม่ได้มีมาตรการอย่างอื่น[15]:251 ในวันเดียวกัน รัฐบาลออกข้อหาโดยไม่มีมูลว่ามีเวียดนามปะปนอยู่กับผู้ประท้วง[2]:10

9.30 น. ลูกเสือชาวบ้านและฝ่ายขวาชุมนุมกันประมาณ 30,000 คนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า บางคนมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2]:9 เวลาประมาณ 16.00 น. ลูกเสือชาวบ้านและประชาชนเดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถนนพระอาทิตย์ เรียกร้องให้ปลดสมาชิกระดับสูง 3 คน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ได้แก่ สุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และชวน หลีกภัย โดยนำเชือกไปด้วยเพื่อเตรียมแขวนคอบุคคลทั้งสาม เพราะเชื่อว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ต่อมาประชาชนกลุ่มนี้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำขาดต่อนายกรัฐมนตรี ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนหลังรัฐประหาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารปรากฏพระองค์และตรัสให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน[15]:251

ในเวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งมีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจ เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งในวันที่ 25 กันยายน คณะรัฐประหารมีแถลงการณ์ว่าการยึดอำนาจมีความจำเป็นเพราะนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและขัดขืนการจับกุมโดยมีอาวุธหนักและร่วมมือกับนักคอมมิวนิสต์เวียดนาม[27] ข้อเท็จจริงที่ว่าชุมพลเจตนาอนุญาตให้ยิงแสดงว่าเขาทราบว่าจะมีรัฐประหาร เพราะรัฐบาลพลเรือนจะสั่งดำเนินคดีต่อเขา[5]:255

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์ 4.2 พันปี เหตุการณ์โกก้าง เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์ 6 ตุลา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2007/08/2... http://bellschool.anu.edu.au/sites/default/files/p... http://www.bangkokpost.com/lifestyle/art/1098817/i... http://bangkokpundit.blogspot.com/2007/08/samak-su... http://edition.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/02/18/ta... http://content.time.com/time/magazine/article/0,91... http://data3.blog.de/media/661/2347661_35e0d731fd_... http://www2.hawaii.edu/~seassa/explorations/v1n1/a... http://ijaps.usm.my/wp-content/uploads/2019/01/IJA... http://www.2519.net/newsite/2016/5-%E0%B8%95-%E0%B...